เจาะลึก Lumia Camera ภาค Rich Capture

ย้อนกลับไปในช่วงปลายปีที่แล้ว ไมโครซอฟท์ได้เปิดตัว Lumia Denim พร้อมโชว์ความสามารถใหม่ของ Lumia Camera รุ่นใหม่หลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ Rich Capture ที่ประกอบด้วย Auto HDR และ Dynamic Flash โดยชูจุดเด่นของการ ถ่ายก่อน ปรับทีหลัง เพื่อให้ได้ภาพที่สมบูรณ์แบบ

เช่นเดียวกับฟีเจอร์ถ่ายภาพของ Lumia ตัวอื่นๆ อย่าง Cinemagraph และ Refocus การทำงานของ Rich Capture นั้นไม่ได้ถูกเปิดเผยออกมามากนัก แถมเจ้า Lumia Camera รุ่นใหม่ที่มาพร้อมกับ Rich Capture นี้ยังไม่มีคู่มือการใช้งานมาให้อีกต่างหาก (Nokia Camera มีคู่มือการใช้งานมาให้ในแอพ)

ด้วยเหตุดังกล่าว บทความนี้จะมาเจาะลึกฟีเจอร์ Rich Capture กัน เพื่อให้ใช้งานได้อย่างเต็มที่และเพื่อคลายความสงสัยส่วนตัวผมเอง :p

เริ่มแรกกันด้วยการสรุปแล้วกันครับ ไม่ใช่การสรุปบทความนี้นะ แต่เป็นการสรุปภาพรวมของตัว Rich Capture กันก่อน

อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่า Rich Capture มีจุดเด่นอยู่ที่การถ่ายก่อน ปรับทีหลัง การใช้งานมันจึงไม่มีอะไรมากไปกว่าการเปิดขึ้นมาใช้งาน และกดถ่าย ซึ่งคาดว่าด้วยความต้องการให้เป็นแบบนั้น เจ้า Rich Capture นี้จึงไม่มีอะไรให้เราปรับแต่งได้เลยแม้แต่อย่างเดียวครับ

ซึ่งเบื้องหลังของ Rich Capture นั้นก็คือการถ่ายภาพหลายๆ ภาพมารวมกันให้ได้ผลลัพธ์ตามการปรับแต่งที่ต้องการนั่นเอง ทำให้หลังจากถ่ายภาพมาแล้วตัวแอพก็จะทำการประมวลผลภาพที่ถ่ายมาได้ซึ่งต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ซึ่งการประมวลผลนั้นจะทำในเบื้องหลังทำให้แม้เราจะยังดูภาพที่ถ่ายมาไม่ได้แต่ก็สามารถถ่ายภาพต่อหรือไปทำอย่างอื่นได้ทันที โดยการประมวลผลภาพที่ว่านี้ประกอบไปด้วยการจัดเรียงภาพแต่ละภาพให้ตรงกัน (ในกรณีที่มุมกล้องเปลี่ยนไประหว่างการถ่ายแต่ละภาพ ซึ่งมักเกิดกับการถือกล้องถ่ายโดยไม่ใช้ขาตั้ง) การเลือกโหมดที่เหมาะสมกับภาพ และประมวลผลภาพที่คาดว่าดีที่สุดออกมาให้เรา หลังจากที่ภาพถูกประมวลผลเสร็จแล้วเราก็สามารถปรับแต่งภาพได้โดยการเลือก "Edit Rich Capture"

การเลือกโหมดของ Rich Capture นั้นตัวแอพจะเลือกให้เราเองโดยที่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งมีโหมดต่างๆ ดังนี้

Auto HDR (High Dynamic Range)

โหมดนี้หลายๆ คนคงรู้จักกันดีอยู่แล้วเนื่องจากมีมาในกล้องจำนวนมากในปัจจุบัน แม้แต่ในสมาร์ทโฟนก็มีสารพัดแอพที่ช่วยให้เราถ่ายภาพแบบนี้ออกมาได้ โดยภาพ HDR นี้จะอาศัยการถ่ายภาพที่ความสว่างต่างๆ เช่น ภาพปกติ ภาพมืดกว่าปกติ หรือภาพสว่างกว่าปกติ ก่อนจะนำส่วนต่างๆ ของแต่ละภาพมารวมกันเพื่อเก็บรายละเอียดให้มากขึ้นกว่าเดิม

ในโหมดนี้เมื่อสั่งแก้ไขจะมีตัวเลือกพร้อมใช้มาให้สามแบบ คือ natural ที่ปรับแต่งมาแบบที่แอพคิดว่ามันดูดีที่สุดแล้ว, artistic สำหรับการปรับแบบสุดขั้ว ตัวเลือกนี้จะเก็บรายละเอียดได้ค่อนข้างดี แต่สีและแสงจะผิดธรรมชาติไป และ no HDR สำหรับภาพแบบไม่ได้แก้ไขอะไร ซึ่งจะเป็นภาพต้นฉบับธรรมดา

หากไม่พอใจกับตัวเลือกที่ให้มา เราสามารถปรับแต่งเองได้โดยเลือกที่ customize เมื่อเข้ามาในหน้าปรับแต่งจะมีแถบเลื่อนให้ใช้ปรับแต่งทั้งหมด 1 แถบ ซึ่งเจ้าแถบนี้จะแบ่งออกเป็นสองส่วนสำหรับโหมดนี้ โดยที่ด้านล่างสุดจะมีค่าเท่ากับ no HDR ไล่ขึ้นมาจนถึงตรงกลางจะเป็น natural HDR แบบเต็มที่ ส่วนจากตรงกลางขึ้นไปถึงด้านบนสุดจะเป็นการปรับระดับของ artistic HDR

คลิปตัวอย่างการปรับ HDR

ภาพตัวอย่างที่ได้ ภาพแรกนี่เห็นเงาที่ใบพัดที่หมุนด้วย ซึ่งการเกิดเงาแบบนี้ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับการถ่าย HDR (แต่โปรแกรมระดับสูงมักจะช่วยจัดการให้ได้)

ภาพที่สองนี่ดูไม่ค่อยมีอะไรให้สมกับเป็นการถ่าย HDR ครับ แต่ถ่ายมาเพราะใช้มุมเดียวกันนี้ถ่ายโหมดอื่นๆ ด้วย

ภาพสุดท้าย ถ่ายเพราะอยากได้ภาพที่เห็นผลของ HDR ชัดๆ

ภาพมุมเดียวกัน แต่ตัวนี้เปลี่ยนมาใช้แอพ HDR Photo Camera แอพถ่าย HDR คุณภาพดีที่ผมซื้อมาใช้ ถ่ายเพื่อเปรียบเทียบผลกันแทน ซึ่งภาพที่ได้ออกมาก็ใกล้เคียงกัน (แต่ใช้เวลานานกว่ามากเพราะไม่มีการทำงานในเบื้องหลัง ถ่ายเสร็จรอประมวลผลกันยาวๆ เลย)

การถ่ายหลายภาพก็มีข้อเสียหลายอย่าง เช่น การเกิดเงา (แบบใบพัดในรูปแรก) หรือถ้าถ่ายคนก็ต้องขอให้แบบอยู่นิ่งๆ นานๆ เท่ากับระยะการถ่ายภาพแรกจนภาพสุดท้ายด้วย ดังนั้นการถ่ายหลายภาพนั้นจึงควรรัวให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ ในส่วนนี้ผมลองจับเวลาคร่าวๆ โดยถ่ายนาฬิกาจับเวลามาแล้วดูตัวเลขบนหน้าจอเอาเลย ซึ่งไม่ตรงแน่นอนครับ แต่ก็พอเห็นตัวเลขคร่าวๆ ได้ อย่างในภาพนี้จะเห็นเลข 711 กับ 844 ในหน่วยมิลลิวินาที เดาเอาโดยประมาณว่าใช้เวลาถ่ายห่างกัน 0.1 วินาทีเท่านั้นเอง

แต่เอาจริงๆ มันมีเรื่องของความเร็วการแสดงผลหน้าจอผมมาเกี่ยวข้องด้วย และผมก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าการถ่ายแบบ HDR ในที่นี้มันถ่ายกี่ภาพกันแน่ แต่ดูจากตัวเลข 0.1 วินาทีข้างต้นแล้วคาดว่าถ่ายทั้งหมดเสร็จในเวลาประมาณครึ่งวินาที ก็เป็นตัวเลขที่ยอมรับได้ครับ (เมื่อเทียบกับแอพ HDR ตัวอื่นๆ อย่าง HDR Photo Camera ที่นำมาเปรียบเทียบด้วยนั้นแม้จะเปิดโหมดถ่ายเร็วที่บอกว่าใช้ได้กับ Lumia เท่านั้นก็ยังใช้เวลานานกว่า 1 วินาทีในการจับภาพ)

Dynamic Flash

มาถึงโหมดที่สองกับ Dynamic Flash ที่มาพร้อมกับความสามารถในการปรับระดับของไฟแฟลช โหมดนี้จะถูกเปิดขึ้นมาใช้งานเมื่อภาพนั้นเปิดไฟแฟลชในขณะถ่าย เท่าที่ผมรู้ถือเป็นของใหม่ที่เจ้าอื่นยังไม่ได้ทำนะครับ เรียกเสียงฮือฮาตอนเปิดตัวได้พอสมควร เนื่องจากผม (และคนอีกจำนวนมาก) เลือกที่จะถ่ายภาพแบบไม่ใช้แฟลชเพราะภาพที่ได้จากการเปิดแฟลชนั้นมักจะออกมาไม่ดีเท่าไหร่ โดยเฉพาะเมื่อแบบอยู่ใกล้จนแสงแฟลชทำให้มองไม่เห็นฉากหลังไป โดยปกติแล้วปีๆ นึงผมถ่ายภาพโดยใช้แฟลชจากกล้องโทรศัพท์นับครั้งได้เลยครับ

ในโหมดนี้เมื่อสั่งแก้ไขจะมีตัวเลือกพร้อมใช้มาให้สามแบบเช่นกัน คือ default สำหรับการปรับระดับแฟลชที่แอพคิดว่าเหมาะสมแล้ว, flash สำหรับภาพที่ถ่ายแบบเปิดแฟลชปกติ และ no flash สำหรับภาพที่ถ่ายแบบปิดแฟลชครับ

เช่นเดียวกับโหมดที่แล้ว หากทั้งสามตัวเลือกออกมาไม่ถูกใจ สามารถเลือกปรับความแรงของไฟแฟลชเองได้ครับ

มาดูคลิปตัวอย่างการปรับ Dynamic Flash กันบ้าง

ตัวอย่างภาพที่ได้ครับ ภาพแรกนี้ผมโอเคกับผลงานเลย ถ้าไม่เปิดแฟลชก็มืดมิด กังหันกับต้นไม้นี่มองแทบไม่เห็น ถ้าเปิดแฟลชเต็มที่นี่ฉากหลังที่มืดอยู่แล้วก็จะมืดลงไปอีก แถมทำให้กังหันสว่างจนเด่นเกินไปด้วย

ภาพที่สองนี่ก็ได้ใช้ประโยชน์อีกแล้วครับ ถ้าไม่เปิดแฟลช มืดมาก noise เพียบ พอเปิดแฟลช สว่างจนนกไม่มีเงา ดูไม่มีมิติ ลดความแรงแฟลชลงมาหน่อย สว่างกำลังดี เห็นเงาชัดเจน

มาจับเวลาดูกันบ้าง อันนี้จะเห็นได้ว่าถ่ายแบบไม่เปิดแฟลชก่อนที่เวลา 962 มิลลิวินาที ตามด้วยการถ่ายแบบเปิดแฟลชที่ 995 มิลลิวินาทีครับ ห่างกันแค่ประมาณ 0.03 วินาทีเท่านั้น ในการใช้งานน่าจะทำงานได้ดีทีเดียว

Dynamic Exposure

มาถึงโหมดสุดท้าย (เท่าที่ผมหาเจอ) โหมดนี้เท่าที่ผมรู้ไม่มีการพูดถึงอย่างเป็นทางการมาก่อนครับ โดยโหมดนี้จะทำงานเมื่อสภาพแวดล้อมค่อนข้างมืด และไม่ได้เปิดไฟแฟลชขณะถ่าย

ตัวเลือกพร้อมใช้สำหรับโหมดนี้มีแค่สองตัวเลือกครับ คือ long สำหรับการถ่ายแบบเปิดหน้ากล้องนานด้วยค่า ISO ต่ำ กับ short สำหรับการเปิดหน้ากล้องระยะสั้นด้วยค่า ISO สูง โดยทั้งสองภาพจะถูกถ่ายด้วยระดับความสว่างเดียวกัน และยังมี customize มาให้เราเลือกปรับเลือกค่าระหว่างทั้งสองแบบได้เช่นเคย

ภาพตัวอย่าง อันนี้ผมไม่ได้ปรับอะไรมันเลยมาเป็น long ครับ เพราะกล้องนิ่ง วัตถุนิ่ง ไม่มีอะไรสั่นไหวอยู่แล้ว

โหมดนี้ผมจับเวลามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ครับ คือตัว long นี่มันเปิดหน้ากล้องนานจนตัวเลขดูไม่รู้เรื่องไปเลย จะให้ลงทุนมากกว่านั้นก็ขี้เกียจเสียด้วย (วิธีทำได้ก็มี แต่โดนความขี้เกียจของมนุษยชาติเข้าครอบงำครับ ขออภัยด้วยครับ (―/|\―))

การเก็บข้อมูล

มาดูในส่วนของการเก็บข้อมูลกันบ้างครับ การถ่ายด้วย Rich Capture นั้นตัวแอพจะบันทึกไฟล์ .nar ขนาดประมาณ 3-8 MB เพิ่มจากไฟล์ .jpg ตามปกติอีกด้วย ซึ่งไฟล์ .nar นี้เป็นนามสกุลเดียวกับที่ใช้เก็บข้อมูลภาพพิเศษที่ถ่ายด้วยแอพอื่นๆ จาก Lumia เช่น Cinemagraph, Refocus และโหมด Smart เดิมอีกด้วย

ไฟล์ .nar นี้แท้จริงแล้วคือการบีบอัดข้อมูลแบบ zip ธรรมดาเท่านั้น ทำให้เราสามารถดูข้อมูลภายในได้โดยการเปลี่ยนนามสกุลของมันเปิด .zip แล้วเปิดดูโดยตรง เมื่อเปิดเข้าไปจะพบโครงสร้างไฟล์ภายในสำหรับโหมดต่างๆ ดังนี้ครับ (คลิกที่ชื่อไฟล์ดาวน์โหลดไปศึกษาได้)

Auto HDR

  • content.xml เก็บข้อมูลของเนื้อหาอื่นๆ ว่าไฟล์ไหนคืออะไร
  • EV0.jpg ภาพ no HDR
  • NaturalHDR.jpg ภาพ natural HDR
  • ArtisticHDR.jpg ภาพ artistic HDR
  • richsettings.xml เก็บการตั้งค่าของภาพที่เราเลือกครับ

Dynamic Flash

  • content.xml เหมือนโหมดที่แล้ว
  • Extra1.jpg เป็นภาพแบบปิดไฟแฟลช
  • Reference.jpg ภาพแบบเปิดไฟแฟลช
  • richsettings.xml เก็บการตั้งค่าเช่นกัน

Dynamic Exposure

  • content.xml เหมือนโหมดอื่น
  • Extra1GoodLight.jpg อันนี้ภาพเปิดหน้ากล้องเร็ว ISO สูง
  • ReferenceGoodLight.jpg อันนี้เป็นภาพเปิดหน้ากล้องนานครับ

ของ Dynamic Exposure พบไฟล์แค่นี้ครับ อาจเป็นเพราะไม่ได้ปรับแต่งอะไรไว้ด้วย

ดูจากข้อมูลในไฟล์แล้วผมคิดว่าผมเดาไว้ถูกนะครับ คือใช้การซ้อนภาพ (เช่นเดียวกับใน Refocus คือการปรับภาพจะใช้ภาพหลักวางไว้ก่อน เอาภาพรองปรับเป็นใสที่สุดเอาไว้ อย่างของ Dynamic Flash ก็เอาภาพปิดไฟแฟลชเป็นภาพหลัก เปิดไฟแฟลชเป็นภาพรอง แล้วเวลาเราเลื่อนแถบใน customize ก็จะปรับความใสของภาพมาซ้อนทับกัน แสงแฟลชก็จะสว่างชัดขึ้นเรื่อยๆ ในไฟล์ richsettings.xml ก็จะเก็บระดับความใสที่ว่านี้เอาไว้ด้วย ตามในตัวอย่างคือผมปรับแฟลชค่อนข้างแรงไว้ ในไฟล์ก็เก็บค่า 0.74 เอาไว้ด้วย

ส่วนของ Auto HDR ก็จะซับซ้อนขึ้นอีกหน่อยเพราะว่ามีภาพมากกว่าชาวบ้านเขา ก็จะแบ่งเป็นช่วงครึ่งแรกเอาภาพธรรมดาเป็นภาพหลัก natural HDR เป็นภาพรอง ส่วนครึ่งหลังก็เอา natural HDR เป็นภาพหลัก แล้วเอา artistic HDR เป็นภาพรองแทน (จริงๆ คงมีสามภาพรวดเดียวแหละครับ แต่อธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ) พวกภาพที่ผมเลือก natural HDR (ก็ทุกภาพ) ในไฟล์ก็เก็บค่า 1.00 เอาไว้

สรุป

โดยทั่วไปแล้ว น่าใช้ครับ และใช้งานได้ดีเสียด้วย ถ่ายมาแล้วไม่ค่อยมีภาพเสีย เพราะเราสามารถปรับให้กลับมาตามที่ต้องการได้ในระดับนึง อาการหลุดโฟกัสและสมดุลสีขาวเพี้ยนก็แทบไม่เจอแล้วใน Lumia Camera ตัวนี้ ตอนนี้ผมใช้ถ่ายเกือบตลอดเวลาแล้ว ยกเว้นเวลาต้องการตั้งค่าจริงๆ

ข้อเสียก็ยังคงมีบ้าง เพราะมันอัตโนมัติเกินไป ปรับให้มืดหรือสว่างเองไม่ได้เลย แถมยังเลือกโหมดไม่ได้อีก บางครั้งเราอยากถ่าย Auto HDR แบบเปิดแฟลชบ้าง หรือตอนกลางคืนอยากให้ถ่ายเป็น Auto HDR มันก็ออกมาเป็น Dynamic Exposure เสียอย่างนั้น

กลัวว่าไฟล์ .nar กินพื้นที่ในเครื่อง? อันนี้ไม่ใช่ปัญหาเท่าไหร่นักครับ (สำหรับคนที่มีความเข้าใจด้านคอมพิวเตอร์อยู่บ้าง) หลังจากเราปรับแต่งเสร็จแล้วเราสามารถเข้าไปลบไฟล์ .nar ทิ้งได้ ภาพก็จะอยู่กับเราเหมือนเดิมเพียงแค่ปรับแต่งไม่ได้แล้วเท่านั้นเอง จริงๆ ตรงนี้น่าจะมีตัวเลือกให้ลบได้ด้วย ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมถึงไม่มีตัวเลือกเพื่อลบมาให้ เพราะไฟล์ .nar นี่สำหรับโหมดที่มีสามตัวเลือกก็จะมีขนาดประมาณ 3 เท่าของไฟล์ภาพที่เราใช้งานจริงเลยทีเดียว สักพักอาจจะมีคนเขียนแอพมาเพื่อเลือกลบไฟล์พวกนี้ก็เป็นได้ (หรือถ้าว่างพอผมอาจจะลงมือเองก็ได้ :p ถ้าไม่โดนความขี้เกียจของมนุษยชาติครอบงำอีกนะครับ)